Start up - Scale up
จบไปแล้วสำหรับ E.P. 16 ตอนสุดท้ายของ ซีรีส์ที่ช่วยจุดไฟฝันให้กับคนทำธุรกิจกันนะครับ ซอดัลมีและนัมโดซานหลังจากผ่านเข้าสู้รอบสุดท้ายของการประมูล ก็ตัดสินใจระดมทุนเพื่อ Scale up ขยายทีมและ ขยายความสามารถในการวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้บริษัทไปสู้เป้าหมายได้เร็วขึ้น ช่วงแรกก็ถูกทัดทานจากซออินแจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ชองบริษัท แต่จากความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่ทีมงานตั้งใจจะฃนะการประมูล ก็ทำให้ซออินแจยอมให้ทำการระดมทุนรอบใหม่ เพื่อนำเงินทุนกลับมาขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ เกร็ดความรู้ ที่นำมาฝากเกี่ยวกับเรื่องการ Scale up นะครับ
การระดมทุนเพื่อ Scale up ต่างกับการหาเงินทุนมาเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ เพราะการระดมทุนนั้นมีเป้าหมายเพื่อจะโตได้รวดเร็ว การขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในลักษณะของ J Curve ซึ่งธุรกิจจะมีกราฟของความเติบโตของปริมาณธุรกิจเป็นรูปตัว "J" เมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดหนึ่งแล้ว การเติบโตจนธุรกิจมีขนาดใหญ่จะเกิด การประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) แต่ละหน่วยของรายได้จะมีต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากความสามารถในการขยายธุรกิจได้ (Scalable) จากเงินทุนใหม่โดยไม่ต้องรอเงินทุนจากกำไรสะสมหรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกระแสเงินสดในการบริหารธุรกิจตามปกติ ส่งผลให้ธุรกิจมีอัตรากำไรที่สูงขึ้นในอนาคตและหากสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดจนเป็นผู้เล่นหลักอำนาจที่มีเหนือตลาด ธุรกิจก็จะสามารถ กำหนดหรือชี้นำตลาดได้ (Category king)
การระดมทุนนั้น มักจะระดมมาจากนักลงทุน (Investor) ไม่ว่าจะเป็น Financial VC หรือ. Corporate VC ดังนั้นสิ่งสำคัญคือแผนงานของการนำเงินทุนที่ระดมได้มาขยายธุรกิจ และการนำเงินไปใช้อย่างเหมาะสม
ในการระดมทุนนั้นมีเรื่องอะไรที่ ธุรกิจต้องพิจารณาบ้าง
1. แผนงานการลงทุนในการพัฒนา Product ใหม่ที่ตอบโจทย์ของตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ ได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาที่กำหนด
2. การลงทุนในการขยายตลาดโดยการใช้ค่าใช้จ่ายในทางการตลาดที่ได้มาซึ่งลูกค้าใหม่เพื่อครอบครองส่วนแบ่งตลาดจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญ ซึ่งกรณีนี้จะต้องคำนึงถึง ต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้า (Cost of customer acquisition :CAC) และระยะเวลาที่ลูกค้าจะอยู่ในธุรกิจของเรา (Customer Lifetime value: LTV) ว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่
3. แผนงานของธุรกิจและการระดมทุนในรอบถัดไปหลังจากได้รับเงินลงทุน เพราะเมื่อนักลงทุนนำเงินลงทุนมาลงกับบริษัท ก็จะมีอัตราผลตอบแทนที่กองทุนกำหนดไว้ เนื่องจากนักลงทุนก็จะต้องบริหารผลตอบแทนและความคาดหวัง ของแหล่งทุนด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการระดมทุนโดยไม่มีแผนงานการเติบโตที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากในการระดมทุน
4. การเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและตัดสินใจทางธุรกิจของนักลงทุนซึ่งโดยมากมักจะมีการขอตำแหน่งกรรมการบริษัทเพื่อสามารถเข้ามาสอดส่องดูแลธุรกิจ รวมถึงควบคุมการใช้เงินทุนตามแผนงาน ซึ่งสามารถตกลงจำนวนตำแหน่งของกรรมการ เสียงที่กำหนดในการโหวต รวมถึงเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนักลงทุนให้ชัดเจนเพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของธุรกิจในระยะยาว
5. การกำหนดมูลค่าธุรกิจ สัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมที่จะลดลง รูปแบบการระดมทุน ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ซึ่งหากผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียสัดส่วนหุ้นจากกระดมทุนมากเกินไป หรือนักลงทุนมีการควบคุมธุรกิจสูงเกินไป ทีมผู้ก่อตั้งก่ออาจมีปัญหาในการมีเป้าหมายร่วมกับธุรกิจในระยะยาวได้ ขั้นตอนนี้ควรต้องมีที่ปรึกษามาช่วยในการตัดสินใจอย่างมาก และการจัดสัดส่วนหุ้นเพื่อเตรียมตอบแทนแก่ ทีมงานที่สำคัญในอนาคตก็ควรเริ่มวางสัดส่วนให้ชัดเจนไว้แต่ต้น รูปแบบของเงินลงทุนไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นใหม่โดยมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น หรือการระดมทุนในรูปแบบของหนี้แปลงสภาพ ก็จะมีรายละเอียดที่ต้องเตรียมพร้อมและพิจารณาถึงสัดส่วนหุ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน
6. การทำข้อตกลงในการลงทุน สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการระดมทุน การเตรียมพร้อมอย่างละเอียด และทำความเข้าใจเนื้อหาที่สำคัญเป็นเรื่องจำเป็นและควรมีผู้เชี่ยวชาญช่วยในการพิจารณา
7.การมีแผนการเงินที่ดีที่ช่วย ควบคุมอัตราการใช้เงิน (Burn rate) การหารายได้ และการบริหารกระแสเงินสดในการลงทุนทั้ง Product และการตลาดให้เพียงพอในรอบระยะเวลาที่ระดมทุน จนกว่าจะถึง Round ถัดไป ตรงนี้การทีระบบบัญชีที่ดี ที่สามาถติดตาม Matrix ต่างๆได้แบบทันที เป็นเรื่องที่สำคัญมาก รายจ่ายทางธุรกิจ กับการรับรู้รายการทางบัญชี มีผลต่องบการเงินที่นักลงทุนและใช้ติดตาม รวมถึงเพื่อเตรียมพร้อมนำเสนอนักลงทุนในรอบใหม่ ระบบบัญชีที่มีมาตรฐาน ช่วยให้ธุรกิจระดมทุนได้ง่าย และนักลงทุนจะมีความมั่นใจในการใส่เงินลงทุนมายังธุรกิจ
สุดท้าย เมื่อมีการเตรียมพร้อมที่ดี การระดมทุนก็เป็นอาวุธที่สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น การมีมูลค่าธุรกิจเป็น Unicorn เป็นความฝันของ Startup ทุกคน ซีรีส์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการอดทน พยายาม ไม่ยอมแพ้ และต่อสู้เพื่อทำตามความฝัน และความฝันที่มีคุณค่า คือฝันนั้นจะต้องมีส่วนช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่และแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งเพื่อนๆ Startup และ SME ทุกคนให้เติบโตตามความฝันและเส้นทางที่มุ่งหวังไว้ จำนวนครั้งที่ล้มไม่ใช่ตัวชี้วัดความล้มเหลว แต่จำนวนครั้งที่ลุกและเรียนรู้ ต่างหากคือตัวชี้วัดความสำเร็จ แล้วพบกันที่เส้นชัยนะครับ
"Follow your dream"
Start-up