-ผู้ถือหุ้น/กรรมการ ส่งทางอิเล็คทรอนิกส์ได้
-ประชุมทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ + ให้ถือสำนักงานใหญ่เป็นที่ประชุมทางอิเล็คทรอนิกส์ได้
-การมอบฉันทะสามารถทำทางอิเล็คทรอนิกส์ได้
คลิกดาวน์โหลด : https://bit.ly/3yStFmQ
พระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๕
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจ ากัด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๕ ”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“การดำเนินการตามวรรคหนึ่งอาจใช้วิธีการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด ”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗/๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“ มาตรา ๗/๑ ในกรณีที่บริษัทหรือคณะกรรมการมีหน้าที่ต้องส่งหนังสือหรือเอกสาร ตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท หากบุคคลดังกล่าวได้แจ้ง ความประสงค์หรือยินยอมให้ส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทหรือ คณะกรรมการอาจส่งหนังสือหรือเอกสารนั้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ ที่นายทะเบียนกำหนด”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๙ คณะกรรมการต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกสามเดือน ณ ท้องที่อันเป็น ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือจังหวัดใกล้เคียง เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดให้มีการประชุม ณ ท้องที่อื่นในราชอาณาจักร
กรณีไม่มีข้อบังคับกำหนดห้ามไว้เป็นการเฉพาะ การประชุมคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง อาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม ”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๘๑ ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ”
เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท กรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะร่วมกันร้องขอให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการได้ โดยต้องระบุเรื่องและเหตุผล ที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาไปด้วย ในกรณีเช่นนี้ให้ประธานกรรมการเรียกและกำหนดวันประชุม ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ
ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่ดำเนินการตามวรรคสอง กรรมการซึ่งร้องขออาจร่วมกัน เรียกและกำหนดวันประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องที่ร้องขอได้ภายในสิบสี่วันนับแต่ วันครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง ”
มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“มาตรา ๘๑/๑ ในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้รองประธานกรรมการ เป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ไม่มีรองประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใด กรรมการ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจร่วมกันเรียกประชุมคณะกรรมการได้ ”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๘๒ ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการ ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดและกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้ ”
มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๙๘ แห่งพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“กรณีไม่มีข้อบังคับกำหนดห้ามไว้เป็นการเฉพาะ การประชุมผู้ถือหุ้นอาจดำเนินการผ่านสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ”
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“ในกรณีที่ได้จัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๙๘ วรรคสาม ให้ถือว่า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม ”
มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
“มาตรา ๑๐๑/๑ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเองตามมาตรา ๑๐๐ วรรคสอง ผู้ถือหุ้น ที่เรียกประชุมอาจจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากผู้ถือหุ้นนั้น ได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้แก่บริษัทหรือคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ แล้ว ”
มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติบริษัท มหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔
“การมอบฉันทะตามวรรคหนึ่ง อาจดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนได้ โดยต้องใช้วิธีการที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่าการมอบฉันทะนั้นได้ดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรค ต่อการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ประกอบกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ยังไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทคโนโลยี สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับกาลปัจจุบัน โดยกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมคณะกรรมการและ การประชุมผู้ถือหุ้น การจัดส่งหนังสือหรือเอกสาร ตลอดจนการมอบฉันทะในการประชุมผู้ถือหุ้น อันจะเป็น การลดภาระและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการของบริษัทมหาชนจำกัดและประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้