เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมใช้ในมาตรการเยียวยาโควิด โดยหลังจากมีประกาศขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ จาก 13 จังหวัด เพิ่มอีก 16 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด นั้น ที่ประชุมครม.วันนี้ จึงอนุมัติเยียวยา 29 จังหวัด โดยพื้นที่ 13 จังหวัดที่ประกาศล็อกดาวน์ไปก่อน จะได้รับเงินเยียวยาผู้ประกันตนเพิ่มอีก 1 เดือน ส่วน 16 จังหวัดจะได้รับเยียวยาในแนวทางเดียวกัน แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ม.39 และ ม. 40
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาลเผยว่า ครม. มีมติขยายพื้นที่เยียวยาอีก 16 จังหวัด ประกอบด้วยกาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ตากที่ได้รับผลจากมาตรการควบควบคุมโค เยียวยาผู้ประกอบการ ลูกจ้าง อาชีพอิสระ ใน 9 กลุ่มกิจการ เหมือนเดิมตามมาตรการที่ออกไปก่อนหน้า
ส่วนแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ขับขี่อายุเกิน 65 ปี ในพื้นที่ 29 จังหวัด สีแดงเข้ม สมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 เพื่อรับเงินเยียวยาได้ ทั้งนี้ รอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อ
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
1. ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี อยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรีและอ่างทอง
2. กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
3. ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
4. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64
5. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ได้แก่ ก.ค.-ส.ค. 64 (2 เดือน)
ทั้งนี้ ลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทย อยูใน 9 กลุ่มกิจการ ได้รับเยียวยา 2,500 บาท สำหรับเดือนก.ค. และอีก 2,500 บาท สำหรับการเยียวยาเดือน ส.ค. รวม 5,000 บาท
เช่นเดียวกัน นายจ้างจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้าง เพิ่มอีก 1 เดือน
ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 จะได้รับเงินเพิ่ม 5,000 บาทสำหรับ การเยียวยาล็อกดาวน์เดือน ก.ค. และอีก 5,000 บาทสำหรับการเยียวยาล็อกดาวน์เดือน ส.ค.
กลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ตาก ได้เยียวยาล็อกดาวน์เดือน ส.ค. 64 (1 เดือน)
• เยียวยาแท็กซี่ วินจยย. อายุเกิน 65ปี ให้ 5,000 บาท
นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ไปเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
• 4 ส.ค.จ่ายเยียวยาล็อกดาวน์งวดแรก
ขณะที่ กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ในวันที่ 4 ส.ค.- 6 ส.ค. จะโอนเงินเยียวยางวดแรก ให้ลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 2,500 บาท และนายจ้าง ผู้ประกอบการมาตรา 33 ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท ไม่เกิน 200 หัว ในพื้นที่ 10 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา ผ่านเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เท่านั้น หรือบัญชีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ
จากนั้น วันที่ 9 ส.ค.จะโอนให้นายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ต่อไป โดยเข้าบัญชีพร้อมเพย์เท่านั้น (สำหรับลูกจ้าง)
ส่วนเยียวยาของเดือนต่อไป ต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงแรงงานอีกครั้ง
สำหรับเงินเยียวยา มาตรา 39 และมาตรา 40 นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเผยกับ พีพีทีวี ก่อนหน้านี้ ว่า กำหนดโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์แก่ผู้ประกันตน ในวันที่ 24 ส.ค.64 เป็นต้นไป พร้อมกันทั้ง 13 จังหวัด
กรณีขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้ว แต่ไม่ได้ชำระเงินสมทบงวดแรก ทำให้สถานะความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สมบูรณ์ กระทรวงแรงงานขยายเวลาให้จ่ายเงินสบทบประกันสังคมมาตรา 40 งวดแรก ภายในวันที่ 10 ส.ค. ทางช่องทางต่างๆ อาทิ เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7- 11 ตู้บุญเติม เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ เพื่อรับสิทธิเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 10,000 บาท
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบสิทธิเยียวยา ม.33 ได้ที่ https://www.sso.go.th/eform_news/
ขอขอบคุณที่มา : https://bit.ly/2VqrcP4