มติศาลรัฐธรรมนูญ ชี้โทษกรณีหลีกเลี่ยง-ฉ้อโกงภาษีที่เข้าลักษณะการฟอกเงิน ตามมาตรา 37 ตรี ประมวลรัษฎากร ขัด รธน. ม.26,ม.37
วันที่ 2 มิถุนายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ที่บัญญัติว่า ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ้อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ ในทรัพย์สิน และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
*ทั้งนี้คำวินิจฉัยดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ศาลแพ่งส่งคำโต้แย้งของนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก รวม 22 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 37 หรือไม่